"NPS โรงไฟฟ้าชีวมวล" ธุรกิจที่มีความมั่งคงในยุคโควิด

22 February 2021

การลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าในช่วงกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา ถือว่าได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากการเติบโตของประเทศ ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้เอกชนทำธุรกิจโรงไฟฟ้ามากขึ้น เห็นได้จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ที่ยังตั้งเป้าความต้องการใช้ - การผลิตไฟฟ้าในอนาคตอยู่ในระดับสูงถึง 77,000 เมกกะวัตต์ ขณะที่ทั่วโลกยังยกให้ธุรกิจไฟฟ้าเป็นเมกกะเทรนด์ที่น่าจับตา

เทรนด์หรือกระแสของโรงไฟฟ้าในยุคปัจจุบัน ผู้ประกอบการหลายรายหันมาสนใจรูปแบบโรงไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน (ชีวมวล) มากขึ้น เนื่องจากมีจุดเด่นที่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับพื้นที่ชุมชนได้ และยังให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตวัตถุดิบส่งป้อนให้โรงไฟฟ้า ตามแนวคิดการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้า กับชุมชนอย่างยั่งยืน

เหตุผลที่ควรลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า

การลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า เป็นการลงทุนที่หลายคนมองว่าเป็นธุรกิจของอนาคต อัตราการเติบโตค่อนข้างมั่นคง และมีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งหากจะพอสรุปข้อดีของโรงไฟฟ้ามีดังนี้

  1. รายได้แน่นอน : เพราะการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นสัญญาที่ชัดเจนและมีระยะยาว ทำให้ง่ายต่อการคาดการรายได้ที่จะเข้ามาในอนาคต
  2. ธุรกิจเมกกะเทรนด์ : ด้วยความต้องการไฟฟ้าที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่สิ้นสุด เนื่องจากอนาคตชีวิตประจำวันจะเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกระแสพลังงานสะอาด และยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นในอัตราสูง
  3. แผนพลังงานภาครัฐ : หลังจากรัฐบาลออกแผนผลิตไฟฟ้า PDP 2018 ออกมาโดยตั้งเป้าว่าในปี 80 จะต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าในประเทศ มากกว่า 77,000 เมกกะวัตต์ ซึ่งจากข้อมูล ณสิ้นปี 63 กำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยยังอยู่ที่ประมาณ 45,000 เมกกะวัตต์เท่านั้น นั่นหมายความว่าความต้องการไฟฟ้าในอีก 16 ปีข้างหน้ายังมีอีกเกือบ 30,000 เมกกะวัตต์
หุ้นกู้โรงไฟฟ้า การลงทุนที่ผลตอบแทนสม่ำเสมอ

หนึ่งในช่องทางการลงทุนในโรงไฟฟ้า ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือการลงทุนในหุ้นกู้ เนื่องจากนักลงทุนมองว่า รูปแบบการลงทุนชนิดนี้ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอกว่าการเข้าไปลงทุนในหุ้นโรงไฟฟ้าที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคา และอาจจะมีหลายบริษัทที่ปันผลไม่ได้สม่ำเสมอ

การลงทุน หุ้นกู้ จะเป็นในลักษณะให้ผู้ถือตราสารหนี้หรือนักลงทุน มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทนั้นๆ ขณะที่ ผลตอบแทนที่ได้จะมีความสม่ำเสมอและแน่นอนโดยอยู่ในรูปของดอกเบี้ย (Interest) ตลอดอายุของตราสารหนี้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้

อย่างไรก็ตาม จะมีข้อสังเกตุเรื่องความเสี่ยงของหุ้นกู้ คือการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับบริษัทที่มีผลประกอบการไม่มั่นคง แต่หากว่าได้ลงทุนกับผู้ออกตราสารหนี้ มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และมีประวัติการออกหุ้นกู้ที่ดี มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่ดี ความเสี่ยงในจุดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ลงทุนจะต้องกังวล

"NPS" หนึ่งในโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่น่าลงทุน

หากจะลองหยิบยกตัวอย่าง โรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เป็นผู้นำในวงการพลังงานของไทย จะต้องมี บริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS เป็นอันดับต้นๆ ที่คิดถึง เนื่องจาก NPS เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจพลังงานและพลังงานหมุนเวียน(Renewable Energy) ที่มีประสบการณ์ในการผลิตไฟฟ้ามานานกว่า 25 ปี และมีกำลังการผลิตไฟฟ้า ณ ปัจจุบัน กว่า 700 เมกกะวัตต์

การผลิตไฟฟ้าของ NPS ถือเป็นบริษัทนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย - สะอาด และสามารถใช้เชื้อเพลิงหลายประเภท การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจากเศษวัสดุทางการเกษตร ของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อและกระดาษซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในอนาคต ทั้งนี้ ถ้าลองนับจำนวนโรงไฟฟ้าของ NPS ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันก็มีโรงไฟฟ้าแล้วถึง 10 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 726.05 เมกะวัตต์ มีรายได้รวมมากกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท แยกเป็น 4 โครงการใหญ่ โดยโครงการที่มีกำลังการผลิตมากสุดคือ โรงไฟฟ้าบิทูมินัสผสมชีวมวล (328 เมกะวัตต์) และ โรงไฟฟ้าชีวมวล (318.1เมกะวัตต์) นอกจากนั้นยังมี โรงไฟฟ้าจากน้ำมันยางดำ (70.05 เมกะวัตต์) และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้พลังงานไอน้ำจากโรงไฟฟ้าชีวมวล (9.9 เมกะวัตต์ )

ขณะที่รายได้จากโรงไฟฟ้าของ NPS ถือเป็นรายได้ที่ค่อนข้างมั่นคง เนื่องกำลังการผลิตไฟฟ้า 726.05 เมกะวัตต์ ที่ NPS ผลิตนั้น ได้ส่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโรงงานในพื้นที่ของเขตอุตสาหกรรม 304 จ.ปราจีนบุรีกว่าร้อยราย ซึ่งลูกค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ยังมีไฟฟ้าบางส่วนที่ NPS ผลิตได้ก็นำมาใช้เองภายในโรงงานอีกด้วย

จะเป็นส่วนหนึ่งกับ "NPS" ได้อย่างไร

ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปี ที่ NPS ได้โลดแล่นในวงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ผ่านหุ้นกู้อยู่เป็นประจำ ซึ่งหุ้นกู้ทุกชุดได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุน ที่สำคัญหากลองย้อนกลับไปประวัติหุ้นกู้แต่ละชุดที่ออกมานั้น นอกจากจะมีผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ทาง NPS ก็ไม่เคยผิดนัดชำระแม้แต่ครั้งเดียว

สิ่งที่พอจะยืนยันได้ว่า หุ้นกู้ของ NPS มีความน่าเชื่อถือ นั่นคือกรณีที่ทริสเรทติ้ง ได้เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของ NPS จากระดับ BBB- เป็น BBB สะท้อนถึงผลการดำเนินงานและสถานทางการเงินที่ดีขึ้นในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา และกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ

นอกจากเรื่องความมั่นคงและผลตอบแทนที่สม่ำเสมอของหุ้นกู้แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน นั่นคือความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาลของ NPS ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ภาคการลงทุนในยุคใหม่ ให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าวอย่างมาก

โรงไฟฟ้า NPS เลือกใช้เทคโนโลยีเตาเผาแบบหมุนเวียน CFB (Circulating Fluidized Bed) ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ในการเผาไหม้เชื้อเพลิง แบบสมบูรณ์ ซึ่งช่วยลดการเกิดไนโตรเจนออกไซด์ ระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์แบบป้อนปูนขาว ที่สามารถควบคุมการระบายก๊าซซัลเฟอร์ นอกจากนี้เถ้าที่ได้หลังจากกระบวนเผาไหม้จะถูกนำไปผลิตปูนซีเมนต์ โดยไม่มีการปล่อยทิ้งให้เสียของ การจัดเก็บเชื้อเพลิงด้วยอาคารจัดเก็บระบบปิดขจัดปัญหาเรื่องฝุ่น

ระบบต่าง ๆ เหล่านี้ คือความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ที่ NPS ทำมาโดยตลอด เพราะตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท และมาเป็นบริษัทมหาชนในปี 2553 ทาง NPS ได้รับรางวัลทางสิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลจากหน่วยงานชั้นนำอย่างมากมาย ซึ่งถือเป็นมาตรฐานที่ดี ที่ทำให้รู้ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมมาเป็นอุปสรรค หาก NPS มีแผนจะขยับขยายหรือสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคต

สรุป

แม้ว่าโรงไฟฟ้ายังเป็นธุรกิจที่มีมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องในอนาคต แต่การลงทุนในธุรกิจดังกล่าวไม่ว่าจะผ่านตลาดหลักทรัพย์ หรือหุ้นกู้ รวมถึงรูปแบบธุรกิจของโรงไฟฟ้านั้นๆ ต่างมีความเสี่ยงเฉพาะตัวทั้งนั้น ซึ่งหากนักลงทุนสนใจควรจะศึกษาผลิตภัณฑ์และธุรกิจของบริษัทนั้นๆ ให้เข้าใจ เพื่อจะได้เลือกรูปแบบการลงทุนให้เหมาะกับสไตล์ของตัวเอง และไม่เสียโอกาสในการลงทุน