นายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประสบผลสำเร็จอย่างสูงในการดำเนินการโครงการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ หรือ “Floating Solar Farm” ระยะที่ 1 ขนาด 60 MW บนบ่อน้ำขนาด 1,200 ไร่ของบริษัทฯ ที่อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีแผนเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในช่วงไตรมาสที่ 4/2566 และอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้ง Floating Solar Farm ระยะที่ 2 ขนาด 90 MW โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในไตรมาสที่ 1/2567 และจะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโครงการ Floating Solar Farm รวม 150 MW ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลกเลยทีเดียว
“ปัจจุบัน NPS มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 770 MW โดยเป็นการผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) จำนวน 433 MW และเมื่อรวมกับกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 150 MW จะทำให้บริษัทสามารถผลิตพลังงานสะอาดแบบผสมผสาน (Solar Biomass Hybrid Power Generation) ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของลูกค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ควบคู่กับการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานสะอาด NPS ยังได้ร่วมมือกับสวนอุตสาหกรรม 304 (304IP) จัดตั้งบริษัทฯ บริหารจัดการสวนอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนา 304IP อย่างบูรณาการ พร้อมกับเสริมศักยภาพหน่วยงานการตลาดและการขายพื้นที่เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มการให้บริการเพื่อช่วยประสานงานให้การจัดตั้งโรงงานและดำเนินงานของผู้ประกอบการใน 304IP เป็นไปอย่างราบรื่น
นายโยธินกล่าวอย่างมั่นใจว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจของ NPS จากการเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าเป็นหลักเพื่อขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และขายไฟฟ้ารายย่อยให้ภาคอุตสาหกรรมไปสู่การเป็นบริษัทผู้ให้บริการจัดหาพื้นที่เพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมกับให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำดิบที่มีคุณภาพและเสถียรภาพแก่ลูกค้าอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร และการที่จำนวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มาลงทุนสร้างโรงงานผลิตสินค้าในสวนอุตสาหกรรม 304 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามสภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงกระแสการย้ายฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกจากประเทศจีน ไต้หวัน และประเทศในทวีปยุโรปมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งส่งผลให้ความต้องการไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นด้วย ประกอบกับการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพของทีมผู้บริหารที่มีความชำนาญ มีวิสัยทัศน์และประสบการณ์สูงจะเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนให้ NPS เติบโตไปได้อย่างมั่นคงในระยะยาว
“สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2566 NPS มีรายได้รวม 5,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2565 ถึง 1,108 ล้านบาท หรือร้อยละ 24 โดยรายได้ร้อยละ 66 ของรายได้ทั้งหมดมาจากลูกค้าอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลือมาจากการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. และผลจากการควบคุมคุณภาพและความชื้นของเชื้อเพลิงอย่างเข้มงวด และการบริหารความเสี่ยงจากการผันผวนของราคาเชื้อเพลิงถ่านหินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิประจำไตรมาส 1/2566 สูงถึง 619 ล้านบาท และจากแนวโน้มราคาถ่านหินในตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวลดลง รวมถึงการผลิตและการจ่ายไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวล จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวมของบริษัทฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะยาว” นายโยธินกล่าวสรุป