รู้จักกับการลงทุน “โรงไฟฟ้า” การลงทุนหุ้นที่ยั่งยืน เผยข้อมูลที่ต้องรู้สำหรับคนที่ต้องการลงทุนซื้อหุ้นโรงไฟฟ้า พร้อมข้อมูลโรงไฟฟ้า บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน)
ลงทุนโรงไฟฟ้า
รู้จักการลงทุน “โรงไฟฟ้า” การลงทุนหุ้นที่ยั่งยืน พื้นฐานแกร่ง
หุ้นโรงไฟฟ้าเป็นหนึ่งในกลุ่มหุ้นที่ได้รับความนิยมในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่เสมอด้วยตัวหุ้นที่มีให้เลือกลงทุนอย่างหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่มีความมั่นคง มีผลการดำเนินงานค่อนข้างเสถียร จ่ายเงินปันผลค่อนข้างสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือเป็นกลุ่มหุ้นที่มีความผันผวนของราคาต่ำ ถึงแม้จะไม่ใช่หุ้นที่เติบโตแบบหวือหวา แต่ก็ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากเท่ากับหุ้นกลุ่มอื่น ๆ จึงเป็นหุ้นที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนโรงไฟฟ้าในกลุ่มหุ้นที่ปลอดภัย (Defensive Stock) หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น ‘หลุมหลบภัย’ ของนักทุนจำนวนมาก
อยากลงทุนโรงไฟฟ้า ต้องรู้! หุ้นโรงไฟฟ้าแบ่งเป็นกี่ประเภท? อะไรบ้าง?
กลุ่มหุ้นโรงไฟฟ้าในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามประเภทเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้า ดังนี้
1. หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากฟอสซิล (Conventional Energy)
เป็นกลุ่มหุ้นโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานฟอสซิล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าหลักทั่วโลก ได้แก่ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าน้ำมันเตา เป็นต้น หุ้นกลุ่มนี้มักมีกำลังการผลิตสูง เนื่องจากกระบวนการผลิตมีความเสถียรค่อนข้างมาก อีกทั้งยังสามารถควบคุมการผลิตได้ง่าย แต่ก็สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรกรธรรมชาติค่อนข้างมากด้วยเช่นกัน เนื่องจากพลังงานฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป อีกทั้งกระบวนการเผาไหม้ยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
2. หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)
เป็นกลุ่มหุ้นโรงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดหรือแหล่งพลังงานทางเลือกที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อย ๆ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการผลิตไฟฟ้า และกำลังมีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบันในฐานะแหล่งพลังงานทางเลือกที่ใช้แทนที่ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นต้น แต่ก็มีความเสถียรต่ำกว่าหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทแรก เนื่องจากยังมีกำลังการผลิตน้อย
ก่อนลงทุนโรงไฟฟ้า ต้องศึกษาอะไรบ้าง?
ก่อนตัดสินใจลงทุนโรงไฟฟ้า ผู้ลงทุนควรศึกษาและวิเคราะห์หุ้นโรงไฟฟ้าที่สนใจเสียก่อนเพื่อให้เข้าใจภาพรวมของหุ้นตัวนั้น ๆ รวมถึงลักษณะธุรกิจ ประสิทธิภาพการผลิต การบริหารต้นทุน จุดแข็ง จุดอ่อน อัตราการเติบโต และอัตราส่วนทางการเงิน รวมถึงข้อมูลด้านอื่น ๆ ได้แก่
-
แนวโน้มของอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต
เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งมักแปรผันตามสภาพเศรษฐกิจ เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้ามีมากขึ้นก็จะกลายเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้เกิดการลงทุนโรงไฟฟ้าโครงการใหม่ ๆ มากขึ้น โดยปกติแล้ว อัตราการเติบโตเฉลี่ยของความต้องการใช้ไฟฟ้าจะอยู่ที่ 0.9-1.1 เท่าของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
-
กลยุทธ์และนโยบายการบริหารงาน
การลงทุนโรงไฟฟ้า ผู้ลงทุนควรนำกลยุทธ์ขยายการเติบโตของหุ้นโรงไฟฟ้ามาพิจารณาร่วมด้วย เช่น การเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้า การขยายการลงทุนในต่างประเทศ การหาพันธมิตรร่วมลงทุน เป็นต้น เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ไม่สามารถเก็บเป็นสต็อกได้เหมือนสินค้าชนิดอื่น จำเป็นต้องส่งไปยังลูกค้าทันทีผ่านระบบสายส่ง อีกทั้งการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องใช้เวลาเฉลี่ยราว 5-7 ปี จึงต้องดูกลยุทธ์และนโยบายการบริหารงานของหุ้นนั้น ๆ ว่าสอดคล้องกับความต้องการในการใช้ไฟฟ้ามากน้อยเพียงใด
-
ทิศทางนโยบายภาครัฐ
ภาคการไฟฟ้าของไทย ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การจำหน่าย หรือการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศจะได้รับการกำกับดูแลโดยภาครัฐผ่านแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) ซึ่งเป็นแผนแม่บทในการผลิตไฟฟ้าของประเทศว่าด้วยการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว 15-20 ปี และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP) ที่มีกรอบเวลาของแผน 10 ปี ซึ่งทั้ง PDP และ AEDP นี้เองจะเป็นตัวกำหนดทิศทางอนาคตการผลิตไฟฟ้าในไทย รวมทั้งเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าหรือประเภทเชื้อเพลิงที่ได้รับการสนับสนุน เป็นต้น
-
สัญญาซื้อขายไฟฟ้า
สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถประเมินอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากรายได้หลักของการลงทุนโรงไฟฟ้ามักมาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement: PPA) ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน รวมไปถึงสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบเอกชนกับเอกชน อาทิ การจำหน่ายไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น การศึกษาข้อมูลดังกล่าวนี้จะช่วยให้ทราบว่าหุ้นที่ต้องการลงทุนโรงไฟฟ้ามีสัญญาซื้อขายกับใครบ้าง มีระยะเวลานานเท่าไร มีอัตราการรับรู้รายได้เป็นอย่างไรนั่นเอง
-
กำลังการผลิตและรูปแบบรายได้
การจัดกลุ่มโรงไฟฟ้าเอกชนตามกำลังการผลิต สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
- โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) กำลังการผลิตมากกว่า 90 เมกะวัตต์ขึ้นไป
เป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีความเสี่ยงต่ำในการรับรู้รายได้ โดยมีรายได้หลักจากการทำสัญญาซื้อขายไฟระยะยาวกับ กฟผ. ซึ่งรายได้จะขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ของผู้บริโภคในประเทศตามปริมาณการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบจริง และรายได้ขั้นต่ำที่จะได้รับตามที่กำหนดในสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว (Minimum Take) - โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) กำลังการผลิต 10-90 เมกะวัตต์
เป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีการรับรู้รายได้ค่อนข้างต่ำเช่นกันจากสัญญาขายไฟระยะยาวกับ กฟผ. และยังมีการประกันรายได้ขั้นต่ำเช่นเดียวกับ IPP โดยอาจจะมีรายได้บางส่วนจากการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะผันแปรตามทิศทางเศรษฐกิจและภาวะอุตสาหกรรมของกลุ่มลูกค้า - โรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) กำลังการผลิตน้อยกว่า 10 เมกะวัตต์
ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเป็นหลัก ส่วนที่เหลือจึงจำหน่ายให้กับ กฟน. และ กฟภ. ในอัตรารับซื้อภายใต้ระบบ Feed-in Tariff (FiT) ตลอดอายุโครงการ อย่างไรก็ตาม รายได้จะมีความผันผวนตามสภาพภูมิอากาศ ปริมาณ ราคา และสถานการณ์วัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในช่วงนั้น ๆ
อัตราการเติบโตและแนวโน้มของกลุ่มอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าเอกชนในไทย มีมากน้อยขนาดไหน?
ในเดือนกันยายน 2565 กฟผ. มีการทำสัญญาซื้อขายกับ IPP โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ากว่า 16,123.50 เมกะวัตต์ และ SPP อีกกว่า 9,408.95 เมกะวัตต์ คิดเป็น 33% และ 20% ของกำลังการผลิตรวมทั้งระบบ โดยในปี 2564 กฟผ. มีการซื้อไฟฟ้าจากเอกชนทั้งสิ้น 133,913.92 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง และไฟฟ้าที่ใช้ในเดือนกันยายน 2565 คิดเป็นกำลังไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 16,579.26 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งกว่า 71% เป็นการซื้อจากเอกชน ดังนั้นหากจะประเมินอัตราการเติบโตและแนวโน้มของกลุ่มอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าเอกชนในไทยอาจเรียกได้ว่ายังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีตามความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัว รวมถึงนโยบายสนับสนุนการลงทุนภาครัฐตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าและแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก โดยกลุ่มโรงไฟฟ้าที่คาดว่าจะมีการขยายการลงทุนมากขึ้น ได้แก่ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาภาคประชาชน โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพและขยะ เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ภาครัฐมีแผนรับซื้อไฟฟ้า และมีศักยภาพการแข่งขันทั้งด้านต้นทุนและแหล่งวัตถุดิบ ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการขยายการลงทุน ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจโดยรวมยังคงเติบโตขึ้นได้เรื่อย ๆ
ข้อมูลโรงไฟฟ้า บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) (NPS)
บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ ‘NPS’ คือ ผู้นำธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลและผู้ให้บริการสาธารณูปโภคแบบครบวงจรแก่ลูกค้าอุตสาหกรรมแถวหน้าของเมืองไทย โดย ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2565 NPS มีธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์แล้วทั้งหมดในประเทศไทยจำนวน 12 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 770.70 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำติดตั้งรวม 2,661.80 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งมีการส่งขายให้กับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ยังไม่รวมถึงการลงทุนโรงไฟฟ้าในประเทศฝรั่งเศส และโครงการร่วมทุนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม BPP กำลังผลิตติดตั้ง 600 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสร้างแล้วเสร็จและเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. ภายในปี 2570 ที่จะถึงนี้ นอกจากนี้ NPS ยังอยู่ในระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ หรือโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำของบริษัทในจังหวัดปราจีนบุรี และยังคงมีความสนใจและมองหาโอกาสลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียนใหม่ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนหลายโครงการเพิ่มเติม
การวิเคราะห์หุ้นโรงไฟฟ้าและลงทุนโรงไฟฟ้าจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยภายนอกและภายใน ทำการศึกษาข้อมูลเชิงลึกของหุ้นแต่ละตัวให้ครบทุกมิติ รวมทั้งประเมินมูลค่าหุ้นที่เหมาะสม เพื่อให้การตัดสินใจลงทุนโรงไฟฟ้ามีความแม่นยำ และนำมาซึ่งผลกำไรที่มั่นคงตามที่คาดหวัง